ทำอย่างไรดี ถ้าผ่อนบ้านไม่ไหว ?
คำนวณความพร้อมทางการเงินมาเป็นอย่างดีแล้วก็ตามก่อนที่จะขอกู้ซื้อบ้านผ่านมาได้ แต่จังหวะชีวิตของคนเรานั้นก็ไม่แน่นอน โดยอาจพลิกผันเกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝันที่ทำให้เราแบกรับภาระผ่อนค่างวดบ้านไม่ไหวได้ เช่น อาจถูกให้ออกจากงานจนสูญเสียรายได้ ธุรกิจที่ทำอยู่อาจเกิดปัญหาทางการเงิน เนื่องจากวิกฤตเศรษฐกิจ หรือสถานการณ์ความไม่สงบทางการเมืองทั้งในและนอกประเทศ เป็นต้น ทั้งนี้ในความเป็นจริงแล้ว หากเราโชคร้ายเจอกับสถานการณ์ผ่อนบ้านไม่ไหวขึ้นมา ก็ไม่ได้หมายความว่าจะต้องถูกยึดบ้านเสมอไป เพราะสามารถแก้ไขได้ด้วยหลากหลายวิธีเพื่อการประนอมหนี้ ดังต่อไปนี้
ขอชำระค่างวดต่ำกว่าปกติตามที่กำหนด
ในสถานการณ์ของการผ่อนบ้านไม่ไหวนั้น โดยทั่วไปแล้วผู้ขอกู้ซื้อบ้านอาจไม่ได้ติดขัดจนถึงขั้นไม่มีเงินค่าผ่อนเลย แต่เพราะมีปัญหาการเงินจึงอาจไม่สามารถผ่อนได้ครบตามจำนวนค่างวดที่กำหนดต่อเดือน ดังนั้น จึงสามารถยื่นเรื่องขอกับทางธนาคารผู้ให้กู้ขอชำระค่างวดต่ำกว่าปกติ ซึ่งทางผู้กู้จะต้องให้ข้อมูลรายละเอียดถึงสาเหตุว่าทำไมถึงไม่สามารถผ่อนชำระเต็มจำนวนค่างวดได้ให้ธนาคารพิจารณา โดยหากธนาคารเห็นว่าผู้กู้ยังคงมีงานทำที่มั่นคง มีรายได้ประจำ แต่อาจจะสูญเสียรายได้บางส่วนไปด้วยเหตุจำเป็น หรือมีภาระทางการเงินอื่นทำให้มีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น ก็จะรับคำขอร้องอนุมัติให้ผ่อนค่างวดต่ำกว่าปกติได้ ซึ่งโดยปกติก็จะให้ผ่อนต่ำกว่าค่างวดได้ไม่เกิน 2 ปี
ขอลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้
เป็นอีกหนึ่งวิธีการที่จะช่วยให้ผู้กู้กลับมาผ่อนบ้านได้ไหว เพราะเมื่อขอลดอัตราดอกเบี้ยลงได้ ค่างวดผ่อนก็จะลดตามลงไปด้วย โดยการขอลดอัตราดอกเบี้ยกับธนาคารผู้ให้กู้เดิมนี้จะเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า การทำ Retention แต่ก็จะสามารถทำได้เมื่อผ่อนชำระค่างวดมาแล้วเกิน 3 ปีขึ้นไป หรือหากไม่สามารถขอลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ซื้อบ้านกับธนาคารเดิมได้ ก็จะมีอีกแนวทางหนึ่งคือยื่นขอทำ Refinance กับธนาคารอื่น หรือหมายถึงการกู้เงินจากธนาคารใหม่ที่ให้อัตราดอกเบี้ยต่ำกว่าเพื่อนำเงินมาเคลียร์หนี้กับธนาคารเดิม และเปลี่ยนไปผ่อนชำระค่างวดที่ถูกลงเพราะอัตราดอกเบี้ยถูกลงกับธนาคารใหม่นั่นเอง
ขอขยายเวลาชำระหนี้
ในการกู้ซื้อบ้านนั้นยิ่งระยะเวลาในการผ่อนยาวนานเท่าไร ค่างวดเดือนก็จะยิ่งถูกลงมากเท่าไร ดังนั้นแล้วเมื่อกู้ซื้อบ้านและดำเนินการผ่อนไปสักระยะแล้วรู้สึกว่าไม่สามารถผ่อนชำระค่างวดได้ไหว ทางผู้กู้สามารถปรึกษาธนาคารขอทำเรื่องขยายระยะเวลาในการชำระหนี้ได้ โดยอาจยืดออกไป 5 ปี หรือ 10 ปี ซึ่งเมื่อระยะเวลาในการชำระหนี้ยาวนานขึ้น ก็จะมีการคำนวณอัตรายอดผ่อนต่อเดือนใหม่ จึงทำให้ค่างวดผ่อนลดลงจากเดิมที่เคยผ่อนไม่ไหวได้ แต่อย่างไรก็ตาม การขอขยายระยะเวลาในการชำระหนี้นั้น จะข้อจำกัดเรื่องอายุเป็นอุปสรรคสำคัญ โดยระยะเวลาที่ขอขยายนั้นสุดท้ายแล้วจะต้องไม่เกิน 40 ปี และปีสุดท้ายของการผ่อนผู้กู้จะต้องอายุไม่เกิน 70 ปี จึงทำให้หากผู้กู้มีอายุเยอะแล้ว ก็อาจจะไม่สามารถเลือกใช้วิธีการขยายระยะเวลาชำระหนี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากนัก
ขอพักชำระหนี้
หากสถานการณ์ทางการเงินของผู้กู้อยู่ขั้นวิกฤตรุนแรง ทางออกที่สามารถทำได้คือการขอพักชำระหนี้ ซึ่งทำได้ 2 ลักษณะคือ การขอพักชำระเฉพาะแค่ดอกเบี้ย แต่ยังต้องส่งเงินต้นทุกเดือนอยู่ และอีกลักษณะคือขอพักชำระทั้งเงินต้นและดอกเบี้ย หรือก็คือขอไม่ผ่อนค่างวดเลยเป็นช่วงระยะเวลาหนึ่ง ซึ่งส่วนใหญ่แล้วหากธนาคารรับคำขอก็จะอนุมัติให้พักชำระหนี้ได้ประมาณ 3-6 เดือน
เมื่อใดก็ตามที่ผู้กู้เกิดปัญหาการเงินขึ้นมาจนไม่สามารถผ่อนชำระค่างวดได้ตามปกตินั้น ยังสามารถมีทางแก้ไขผ่อนปรนได้โดยการขอคำปรึกษาจากธนาคารผู้ให้กู้ เพราะอย่างไรก็ตาม ธนาคารก็ต้องการช่วยให้ผู้กู้สามารถผ่อนชำระหนี้ได้จนครบสัญญาอยู่แล้ว แต่ทั้งนี้ การขอประนอมหนี้ด้วยวิธีการต่าง ๆ นั้น จะสามารถได้รับการพิจารณาอนุมัติให้ผ่านได้ ก็ต้องอาศัยประวัติในการผ่อนชำระของผู้กู้ด้วยว่าตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา เคยผิดนัดชำระหนี้มากน้อยแค่ไหน รวมถึงยังต้องพิจารณาถึงสาเหตุของปัญหา ตลอดจนความสามารถในการหารายได้ของผู้กู้ประกอบกัน
ข้อมูลจาก : https://www.reic.or.th/Knowledge/SuggestionHomeDetail/188